การคัดเลือกในระบบ TCAS

ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่เรียกว่าระบบ TCAS สำหรับปีการศึกษา 2564 ยังคงใช้รูปแบบการคัดเลือก 5 แบบ เหมือนกับปีก่อน ๆ ได้แก่ Portfolio, Quota, Admission 1, Admission 2 และ Direct Admission แต่มีการปรับเปลี่ยนรอบคัดเลือก โดยลดจาก 5 รอบ เหลือ 4 รอบ ดังนี้

ลำดับรอบการคัดเลือก

รอบที่ 1: Portfolio

สมัครที่มหาวิทยาลัยตามที่เลือกไว้ โดยสมัครได้หลายสาขาวิชา แต่จะสามารถยืนยันสิทธิ์หลังผ่านการคัดเลือกได้เพียงสาขาเดียว สำหรับรอบแรกนี้ไม่มีการสอบข้อเขียนและสอบภาคปฏิบัติ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกนักเรียนที่มีผลงานโดดเด่น โดยพิจารณาจากผลงานส่วนตัวของนักเรียน สำหรับเอกสารที่ต้องยื่นประกอบด้วยเกรดเฉลี่ย (GPAX) 5 ภาคเรียน แฟ้มสะสมผลงาน และเอกสารอื่นตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด

รอบที่ 2: Quota

เน้นคัดเลือกผู้สมัครในพื้นที่ โดยพิจารณาจากคะแนน GPAX, O-NET, GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญ ทั้งนี้ บางมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการจัดสอบเอง

รอบที่ 3: Admission 1 และ 2

กำหนดให้สมัครพร้อมกันทั้ง Admission 1 และ 2 โดยทางมหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก ดังนี้

*Admission 1 เน้นคะแนนสอบส่วนกลางจาก GPAX, O-NET, GAT, PAT 9 วิชาสามัญ และความถนัดทางการแพทย์

*Admission 2 เน้นคะแนนผลการเรียนในชั้นเรียน และการสอบเพิ่มเติม โดยประเมินจาก GPAX 20%, O-NET 30%, GAT และ PAT 50%

รอบที่ 4: Direct Admission

Direct Admission หรือการรับตรงอิสระ เน้นคัดเลือกผู้ที่ยังไม่มีที่เรียน โดยทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกจากคะแนน GPAX, O-NET, GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญ

ระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยปี 2564

ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหรือเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง จุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาที่พบขณะใช้ระบบนั้น ๆ โดยในปี พ.ศ. 2564 เปลี่ยนมาใช้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า TCAS (Thai University Central Admission System) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นระบบป้องกันนักเรียนวิ่งรอกสอบ และป้องกันการใช้สิทธิ์ซ้ำ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้นักเรียน 1 คน สามารถตอบรับเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เลือกได้เพียงสาขาเดียวเท่านั้น

ประเภทคะแนนที่ใช้ในระบบ TCAS

สำหรับคะแนนสอบที่นำมาคิดคำนวณเป็นคะแนนเฉลี่ยรวมในระบบ TCAS มาจากการสอบประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. GPAX

ได้แก่ เกรดเฉลี่ยจากคะแนนทุกรายวิชาในการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตั้งแต่ ม.4-ม.6 นำมาใช้คิดคำนวณเป็นคะแนนในการคัดเลือก TCAS ด้วยค่าน้ำหนักอยู่ที่ 10-20%

2. O-NET

เป็นการสอบวัดความรู้ 5 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีค่าน้ำหนักในการนำมาคำนวณคะแนน 30%

3. GAT/PAT

สำหรับ GAT เป็นการสอบวัดความถนัดด้านภาษาไทยและอังกฤษ ส่วน PAT เป็นการสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการหลายสาขา รวมทั้งความถนัดภาษาต่างประเทศหลายภาษา เป็นการสอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดสัดส่วนน้ำหนักของคะแนนที่ใช้ยื่น ตั้งแต่ 10-50%

4. วิชาเฉพาะ

เป็นการสอบวัดความรู้ความสามารถวิชาเฉพาะ เช่น แพทย์ เภสัช ศิลปะ และดนตรี เป็นต้น

5. วิชาสามัญ

เป็นการสอบกลางเพื่อนำคะแนนไปใช้ในระบบรับตรงของมหาวิทยาลัย สามารถเลือกสอบได้ 7 วิชา จากทั้งหมด 9 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม คณิตศาสตร์ 1และ 2 เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ทั่วไป

6. วัดความสามารถทางภาษา

เป็นการสอบวัดความสามารถภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 เช่น การสอบ TOEFL, IELTS, TOEIC และ SAT เป็นต้น

มหาวิทยาลัยไทยดีที่สุดในปี 2020-2021

มีสถาบันและบริษัทหลายแห่งที่ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยประจำปี โดยมีสถาบันและบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติรวมอยู่ด้วย 10 แห่ง เช่น QS World University Rankings, Academic Ranking of World Universities และ World University Rankings เป็นต้น

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยไทยที่ดีที่สุด 10 อันดับแรก ประจำปี ค.ศ. 2020 จากการให้คะแนนของสถาบันและบริษัทนานาชาติ 10 แห่ง ดังกล่าว (ขณะเขียนบทความนี้ สถาบันและบริษัทหลายแห่งในจำนวน 10 แห่ง ด้งกล่าวยังไม่มีการจัดอันดับประจำปี 2021) มีดังนี้

10 มหาวิทยาลัยไทยดีที่สุดในปี 2020

  1. มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คะแนนจากการคัดเลือก 325 คะแนน
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 324 คะแนน
  3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 304 คะแนน
  4. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 274 คะแนน
  5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 250 คะแนน
  6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 227 คะแนน
  7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 217 คะแนน
  8. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 202 คะแนน
  9. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (นครราชสีมา) 179 คะแนน
  10. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 140 คะแนน

มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกปี 2021

สำหรับ QS World University Rankings มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดของโลกประจำปี 2021 ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ 10 แห่ง ได้แก่

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับ 208 ของโลก
  2. มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับ 252
  3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดอันดับ 561-570
  4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดอันดับ 601-650
  5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดอันดับ 801-1000
  6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดอันดับ 801-1000
  7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ติดอันดับ 801-1000
  8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดอันดับ 801-1000
  9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ติดอันดับ 1001+
  10. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ติดอันดับ 1001+

10 มหาวิทยาลัยรัฐที่มีผู้อยากเรียนมากที่สุดในปี 2020

ทางด้านสถาบันจัดอันดับด้านการศึกษา (Thailand Education Ranking: TER) ได้สำรวจความเห็นของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ทางออนไลน์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยรัฐบาลในประเทศไทยที่ต้องการเรียน โดยกลุ่มเป้าหมายที่ทำการสอบถาม ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2020 ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 7,720 คน

จากนั้น นำคะแนนโหวตจากการสอบถามมาจัดอันดับ ปรากฏว่าได้มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐบาลในไทยที่ได้รับความนิยมสูง หรือมหาวิทยาลัยรัฐที่มีผู้อยากเรียนมากที่สุดประจำปี 2020 จำนวน 10 อันดับ ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  7. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  8. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  9. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย)
  10. มหาวิทยาลัยศิลปากร